ประวัติศาสนาซิกข์นามธารีโดยสังเขป

คำว่า ซิกข์ หรือ “สิกข์” จะตรงกับภาษาบาลีว่า สิกขา หมายถึง การศึกษา ผู้ใฝ่เรียน ผู้ศึกษา หรือศิษย์
คำว่า นามธารี หมายถึง ผู้ธำรงค์รักษาพระนามของพระผู้เป็นเจ้า กล่าวได้ว่าซิกข์นามธารี คือผู้ที่มีความรัก เชื่อถือศรัทธา และยึดมั่นในองค์พระผู้เป็นเจ้าเพียงพระองค์เดียว โดยเชื่อฟังคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาผู้ยังดำรงพระชนม์ชีพอยู่เสมือนอาจารย์ผู้สั่งสอนศิษย์

  ศาสนาซิกข์นามธารีก่อตั้งโดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานักเทพ โดยนับจากปีที่พระองค์ทรงประสูติ คือ พ.ศ. 2012 (ค.ศ. 1469) ในหมู่บ้านตัลวันดี
(ปัจจุบันเรียกว่า "นันกาน่า ซาฮิบ" ใกล้เมืองลาโฮร์ ประเทศปากีสถาน) องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ทรงปฏิเสธและไม่เคยเชื่อถือหรือยอมรับในพิธีกรรม ต่าง ๆ ที่ไร้สาระ เช่น การเชื่อถือโชคลาง หรือเวทมนต์คาถาใด ๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้คนสมัยนั้นยึดถือ และเลื่อมใส องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ และ พระศาสดาทุกพระองค์ที่สืบทอดจากพระองค์ได้ทรงวางรากฐาน และการปฏิบัติตนให้เป็นแบบอย่างอันงดงามในการดำรงชีวิตในกรอบแห่งศีลธรรม ในขณะเดียว กันก็ยังคงมีส่วนร่วม และบทบาทอันเข้มแข็งในสังคมฆราวาส (ทางโลก) ควบคู่กันไป  
  นับตั้งแต่สมัยขององค์พระปฐมบรมศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ (พระศาสดาองค์ที่ 1) ได้ก่อตั้งศาสนาซิกข์ขึ้น และสืบต่อเนื่องมาจนถึงสมัยองค์พระ  
ศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บฮาดูร์ (พระศาสดาองค์ที่ 9) ชาวซิกข์ได้ร่วมกันปกป้องรักษาศาสนาฮินดูมาโดยตลอด เรื่อยมาจนถึงสมัยขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โควินท ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) รูปแบบและแนวทางจึงได้เปลี่ยนแปลงไป โดยทรงปลูกฝังรากฐานของศาสนาซิกข์อันบริสุทธิ์ให้หยั่งลึกลงไปในชีวิตของ ศาสนิกชน โดยในวันหนึ่งของเดือน วิสาขะ (ตรงกับช่วงวันสงกรานต์) ณ เมือง "อนันต์ ปุร ซาฮิบ" พระองค์ได้ทรงเรียกประชุมบรรดาบัณฑิตพราหมณ์ และ ศาสนิกชนของพระองค์เพื่อรับพระราชทานน้ำอมฤต (น้ำสาบานศักดิ์สิทธิ์) ซึ่งถือเป็นพิธีกรรมอันสำคัญยิ่ง มีการสวดมนต์ ร้องเพลงสรรเสริญพระผู้เป็นเจ้า และการอ่านพระมหาคัมภีร์  
  ก่อนที่องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โควินท ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 10) จากโลกนี้ไป พระองค์ทรงเสด็จไปเมือง "ฮัชโร" เพื่อพระราชทานพระราชอำนาจ  
ของพระองค์ให้กับองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11) ซึ่งในสมัยนั้นเป็นช่วงที่สถาบันนานักราชกำลังตกต่ำถึงขีดสุด โดยศาสนิกชน ของพระองค์ส่วนใหญ่กำลังหลงลืมธรรม และคำสั่งสอนขององค์พระศาสดา เป็นเหตุให้แนวทางการดำเนินชีวิตผิดเพี้ยนไป  
  ด้วยเหตุนี้องค์พระผู้เป็นเจ้าจึงได้ทรงอวตารลงมาในรูปขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ของชาวซิกข์นามธารี โดยได้  
ทรงอวตารลงมาในกระท่อมของช่างไม้ผู้ยากจน ช่วงเช้ามืดของวันพฤหัสบดี แห่งวสันตฤดู ซึ่งตรงกับปี พ.ศ. 2359 (ค.ศ. 1816) ณ เมืองเล็ก ๆ ในจังหวัด "ลูเดียนา" แห่งรัฐปัญจาบ ซึ่งบิดาของพระองค์มีนามว่า "ยัสสา ซิงห์" ส่วนมารดามีนามว่า "ซาดา กอร์" อ่านเรื่องราวเกี่ยวกับองค์ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี ได้ที่นี่ ในช่วงวัยหนุ่มพระองค์ได้ทรงเข้ารับราชการทหารในกองทัพของมหาราชา "รัณยีต ซิงห์" และได้ทรงเสด็จไปยังเมือง "ฮัชโร" ซึ่ง ณ ที่นั้น องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 11) ได้ทรงประทานพระราชอำนาจของพระองค์ให้กับองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) พร้อมกับมีรับสั่งว่า "ให้พระองคค์บำเพ็ญเพียรภาวนาสวดมนต์ด้วยพระองค์เอง และสั่งสอนเผยแพร่วิธีการสวดมนต์ให้กับผู้อื่นด้วย" ซึ่งพระองค์ทรงปฏิบัติตาม พระบัญชามาโดยเคร่งครัดสม่ำเสมอ  
  12 เมษายน พ.ศ. 2400 (ค.ศ. 1857) (ในช่วงวันสงกรานต์ เดือนวิสาขะ ซึ่งถือเป็นวันขึ้นปีใหม่) องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี  
(พระศาสดาองค์ที่ 12) ได้ทรงสังคยานารูปแบบของ ศาสนาซิกข์นามธารีให้บริสุทธิ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง โดยเชิญ "ปัญจ ปิอาเร่" (ศิษย์ที่รักทั้ง 5) ขึ้นมารับน้ำอมฤต และได้ทรงสังคยานารูปแบบของศาสนิกชนชาวซิกข์นามธารีขึ้นใหม่ในนาม "นามธารี ซันต์ คาลซ่า" ซึ่งมีความหมายว่า "นักบุญบริสุทธิ์ผู้มีพระนามของพระผู้เป็นเจ้า สถิตอยู่ในจิตวิญญาณ"  
  ในสมัยนั้นองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ค้นหาชาวซิกข์นามธารีที่ปฏิบัติตนถูกต้องสมบูรณ์แบบตามหลักศาสนาได้เพียง  
ไม่กี่คน พระองค์จึงได้ทรงชักชวนชี้นำศาสนิกชนผู้หลงผิดประพฤติปฏิบัติตนออกนอกลู่นอกทางทั้งหลายให้ได้มีโอกาสรับพระราชทาน "พระนาม" (คำสวดมนต์) และนำเข้าสู่การเป็นสานุศิษย์ของพระองค์ตามรูปแบบและกฎระเบียบของความเป็นซิกข์นามธารีที่สมบูรณ์ พระองค์ยังได้ทรงอุ้มชูผู้ที่ล้มเหลวในชีวิต อันเนื่องจาก ขาดหลักธรรมนำทางให้ได้ลุกขึ้นต่อสู้อย่างองอาจอีกครั้งหนึ่ง โดยได้ทรงรื้อฟื้นพิธีกรรมปรัมปราให้บริสุทธิ์ตามศาสตร์ และวัฒนธรรมดั่งเดิมขึ้นมาอีกดครั้ง อันได้แก่ พิธีบูชาพระเพลิง การสวดมนต์ การอ่านพระคัมภีร์ การสนานกายให้สะอาดบริสุทธิ์ (การอาบน้ำตั้งแต่ศีรษะจรดเท้า) การร้องเพลงสวดสรรเสริญพระ ผู้เป็นเจ้า และทรงปกป้องคุ้มครองให้สังคมในยุคนั้นได้ออกห่างและหลุดพ้นจากพิธีกรรมอันช่อฉลหลอกหลวง เช่น การบีบบังคับให้มีการสมรสก่อนวัยอันควร ตลอดจนหลุดพ้นจากพิธีสมรสซึ่งฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือย โดยวันที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2406 (ค.ศ. 1863) พระองค์ได้ทรงจัดให้มีการสมรสหมู่ขึ้นพร้อมกันถึง 6 คู่ (โดยเดินรอบกองเพลิง พร้อมกับอ่านบทสวดในพระมหาคัมภีร์) เป็นครั้งแรกในเมือง "โคเต" จนเป็นเหตุให้นักบุญจอมปลอมผู้เสียผลประโยชน์ในสมัยนั้น รวมตัวกันดำเนินคดีฟ้องร้อง ซึ่งพระองค์เองต้องถูกควบคุมตัว และสู้คดีอยู่เป็นเวลานาน และในที่สุดด้วยเจตนาอันบริสุทธิ์ของพระองค์ ทำให้พระองค์ชนะคดี และพิธีการสมรสในรูปแบบใหม่นี้จึงได้ถือเป็นรากฐานซึ่งศาสนิกชนชาวนามธารีทั่วโลกยึดถือ และนำมาเป็นแนวทางปฏิบัติจนถึงทุกวันนี้  
  ประวัติศาสตร์สามารถเป็นเรื่องยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ในทุกยุคทุกสมัยที่มหาบุรุษผู้ทรงคุณธรรมลงมายังโลกมนุษย์ย่อมจะมีหมู่มารลงมาควบคู่กันเสมอ  
ซึ่งในครั้งนี้ก็เช่นกัน พระองค์ได้ถูกมารผจญ จนเป็นเหตุให้ต้องพลัดพรากจากแผ่นดินเกิด และนานักราช (การสืบทอดราชอำนาจขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ซึ่งเป็นพระปฐมบรมศาสดาของชาวซิกข์) ซึ่งพระองค์ทรงดูแลอยู่นั้น จึงจำเป็นต้องถูกถ่ายโอนมายัง องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี (พระศาสดารักษาการณ์องค์ที่ 1) เพื่อให้ทรงเป็นผู้ดูแลรักษาการณ์แทน และสืบต่อมาจนถึงปี พ.ศ. 2449 (ค.ศ. 1906) พระราชอำนาจของพระองค์จึงได้ถูก พระราชทานสืบต่อมายัง องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ปัรตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดารักษาการณ์แทนองค์ที่ 2) ซึ่งทรงเป็นพระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์นามธารี พระองค์แรกที่ทรงพระเมตตาเสด็จมาโปรดสานุศิษย์ของพระองค์ ณ กรุงเทพฯ ในวันพุธที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2477 (ค.ศ. 1934) โดยตลอดรัชสมัยพระองค์ ทรงเสด็จมายังประเทศไทยถึง 22 ครั้ง  
  22 สิงหาคม พ.ศ. 2502 (ค.ศ. 1959) เป็นวันที่องค์พระศาสดา สิริ สัตคุรุ ปัรตาป ซิงห์ ยี (พระศาสดารักษาการณ์องค์ที่ 2) ได้ทรงเสด็จจากโลกนี้ไป  
โดยองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ยัคยีต ซิงห์ ยี (พระศาสดารักษาการณ์องค์ที่ 3) ได้ทรงเป็นผู้รับภาระในการดูแลสานุศิษย์ของพระองค์สืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน โดยพระองค์ทรงไม่เคยทอดทิ้งศาสนิกชนชาวซิกข์นามธารีทั่วโลก รวมทั้งศาสนิกชนที่มีถิ่นพำนักอยู่ในประเทศไทยเลย พระองค์ได้ทรงเสด็จเยี่ยมเยือนศาสนิกชน ของพระองค์อย่างสม่ำเสมอ โดยเสด็จมาประเทศไทยครั้งแรกในเดือน มกราคม พ.ศ. 2504 (ค.ศ. 1961) และทรงเสด็จอย่างต่อเนื่องเสมอมานับเนื่องมาจนถึง ปัจจุบัน เพื่อให้สานุศิษย์ของพระองค์ได้มีโอกาสเข้าเฝ้านมัสการ และรับฟังพระธรรมเทศนาตลอดจนคำสั่งสอน เพื่อเตือนสติ และตอกย้ำถึงความสำคัญในการ สวดมนต์ปฏิบัติธรรม และเคร่งครัดในการดำเนินชีวิตตามแนวทางคำสั่งสอนขององค์พระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์นามธารีทุกพระองค์  
     
องค์พระศาสดาแห่งศาสนาซิกข์นามธารี
 
  ศาสนาซิกข์นามธารีได้กำเนิดขึ้นในสมัยของพระบรมศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี เมื่อวันที่ 12 เมษายน 2400 (ค.ศ. 1857) ตามความเชื่อถือของ  
ศาสนิกชนชาวซิกข์นามธารีเชื่อว่า องค์พระบรมศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี ทรงเป็นพระศาสดานับลำดับได้เป็นองค์ที่ 12 ของศาสนาซิกข์นามธารี โดยนับเนื่อง ตั้งแต่องค์พระปฐมบรมศาสดา ดังนี้คือ  
    1. องค์พระปฐมบรมศาสดา ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ ยี  
    2. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ องคัต เทพ ยี  
    3. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อมรดาส ยี    
    4. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ รามดาส ยี    
    5. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ อรชุน เทพ ยี    
    6. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริโควินท์ ยี    
    7. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ราย ยี  
    8. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ กฤษณะ ยี    
    9. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ เตค บฮาดูร์ ยี    
    10. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โควินท ซิงห์ ยี พระศาสดาผู้ทรงสถาปนาพิธีการบรรพชาของชาวซิกข์ขึ้นในปี พ.ศ. 2242 (ค.ศ. 1699) โดย    
     

ทรงกำหนดรูปแบบอันเป็นเอกลักษณ์ให้กับศาสนิกชนของพระองค์ เพื่อประกาศตนให้เด่นชัดในการปฏิบัติธรรม และปกป้องคุณธรรม โดยชาวซิกข์ 5 ท่านแรกที่ผ่านการบรรพชาได้ถูกขนานนามว่า "ปัญจ ปิอาเร่" (ผู้เป็นที่เคารพรักทั้ง 5) และพระองค์ยังได้ขอให้ "ปัญจ ปิอาเร่" ทั้งห้าทำพิธีบรรพชาให้พระองค์ด้วย ทั้งนี้เป็นการแสดงให้เห็นว่าไม่มีข้อแตกต่างใด ๆ ระหว่างพระองค์ผู้เป็นพระศาสดา และศิษย์ของพระองค์แต่ประการใด และยังแสดงออกถึงจิตใจอันประเสริฐ และความเป็นประชาธิปไตยของพระศาสดาอย่างแท้จริง

   
    11. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ บาลัก ซิงห์ ยี    
    12. องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี ซึ่งในสมัยของพระองค์นั้น พระองค์ได้ทรงสังคายนาปฏิรูป รูปแบบของชาวซิกข์ให้เคร่งครัด    
      และบริสุทธิ์ขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ตามแนวทางปฏิบัติเดิมขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ โควินท ซิงห์ ยี โดยขนานนามศาสนิกชนของพระองค์ เป็นนิกายใหม่ ภายใต้ชื่อ "ซันต์ คาลซ่า" ซึ่งแปลลงตัวว่า "นักบุญบริสุทธิ์" (ดังได้กล่าวมาแล้วข้างต้น) ซึ่งในเวลาต่อมาเป็นที่รู้จักในนาม ชาวซิกข์นามธารี "NAMDHARI" ซึ่งมีความหมายว่า "ผู้มีพระนามของพระผู้เป็นเจ้าสถิตในจิตวิญญาณ"    
           
    อนึ่ง ชื่อ "นามธารี" นี้ ได้เรียกศาสนิกชนซึ่งเคารพนับถือพระบรมศาสดาทุกพระองค์ของศาสนาซิกข์นามธารี นับตั้งแต่องค์ปฐมบรมศาสดา    
  ศิริ สัตคุรุ นานัก เทพ จนถึงองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี ตลอดเรื่องมาจนถึงองค์พระศาสดารักษาการณ์ทุกพระองค์ ซึ่งองค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี ได้ทรงแต่งตั้งขึ้นเป็นครั้งแรกในขณะซึ่งพระองค์ทรงพำนักอยู่ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศพม่า โดยให้พระอนุชาของพระองค์เป็น พระศาสดารักษาการณ์แทนพระองค์แรก (องค์พระศาสดาศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี) โดยมีพระราชสาสน์เป็นลายพระหัตถ์ของพระองค์เองพร้อมทั้งทรง พระราชทานพระนามให้ใหม่ จากเดิม พระอนุชา "พุทธ ซิงห์" เป็น องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ หริ ซิงห์ ยี ส่วนพระศาสดารักษาการณ์ผู้ทรงได้รับพระราช อำนาจสืบต่อมาคือ องค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ปัรตาป ซิงห์ ยี และ ศิริ สัตคุรุ ยัคยีต ซิงห์ ยี ซึ่งทรงเป็นพระศาสดารักษาการณ์สืบทอดองค์ปัจจุบัน ซึ่งพระศาสดารักษาการณ์ทุกพระองค์ทรงเผยแผ่ศาสนาตามแนวทางขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี โดยทรงปฏิบัติพระองค์เป็นแบบอย่าง ให้กับสานุศิษย์ของพระองค์อย่างเคร่งครัด และประการสำคัญที่สุดอีกประการหนึ่งคือ ต่างทรงปลูกฝังความศรัทธาในการรอการเสด็จกลับมาอีกครั้ง ในร่างเดิมขององค์พระศาสดาศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี    
    ด้วยเหตุนี้ ศาสนิกชนชาวซิกข์นามธารีทุกคนจึงถือว่า องค์พระศาสดารักษาการณ์ทุกพระองค์ ทรงไว้ซึ่งพระราชอำนาจอย่างบริบูรณ์ในพระนาม    
  ขององค์พระศาสดา ศิริ สัตคุรุ ราม ซิงห์ ยี (พระศาสดาองค์ที่ 12) ของชาวซิกข์นามธารีจนกว่าพระองค์จะเสด็จกลับมาในร่างเดิมอีกครั้งหนึ่ง    
           
กลับหน้าหลัก | การแต่งการของชาวซิกข์นามธารี | อาหารการกินของชาวนามธารี